นายกิตติ  พัวถาวรสกุล      พลเอก พอพล มณีรินทร์ 
                                                                    กรรมการผู้จัดการ             ประธานกรรมการบริษัท                                                               

สารจากกรรมการบริษัท

มีเพียงไม่กี่ปีที่เกิดเหตุการณ์สำคัญซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยในปี 2563 เป็นหนึ่งในปีที่ทั่วโลกและประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยและเกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคม ธุรกิจ และพฤติกรรมของผู้บริโภค ไปสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) โดยเศรษฐกิจไทยปี 2563  หดตัวร้อยละ 6.1 จากที่คาดการณ์ไว้ประมาณร้อยละ 6.7 ซึ่งน้อยกว่าจากการคาดการณ์ ด้วยมาตรการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่งที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนใช้จ่ายผ่านโครงการดังกล่าว ในไตรมาสที่ 4 ถึงร้อยละ 0.3 ของ GDP ส่งผลให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนกลับมาขยายตัวเป็นบวก หลังจากหดตัวลงใน 2 ไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังส่งผลให้การส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 4 หดตัวน้อยกว่าที่ประเมินที่ร้อยละ 2.0 อย่างไรก็ตาม แรงส่งจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ขาดความต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ที่มีจุดเริ่มต้นในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ปัจจัยเรื่องวัคซีนโควิดเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่สำคัญ อีกทั้งปัจจัยทางการเมืองที่ยังคงส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ  จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองในช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน ก่อนจะเริ่มลดลงในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังภาระของรัฐบาลที่มากขึ้นในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 มีการคาดการณ์ว่าจะหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกับปีก่อน จากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ เนื่องจากผู้บริโภคเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายและเก็บกระแสเงินสดมากขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นการบริโภคผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง และโครงการอื่น ๆ จากทางภาครัฐ ได้ช่วยพยุงกำลังซื้อของประชาชนได้เพียงบางส่วน ด้านธุรกิจ การผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศหดตัวตามคำสั่งซื้อที่ลดลง รวมทั้งผลกระทบจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังยืดเยื้อและราคาค่าระวางที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก

ปัจจุบันการขนส่งสินค้าทางเรือเป็นระบบการขนส่งหลักของการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะค่าการขนส่งทางเรือด้วยตู้คอนเทนเนอร์ที่มีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณการขนส่งสินค้าทางเรือทั้งหมดของโลก สำหรับประเทศไทยที่มีการส่งออกสินค้ามากกว่าการนำเข้า จึงมีโครงสร้างการใช้งานตู้สินค้าที่ไม่สมดุล ประกอบกับไทยยังไม่สามารถผลิตตู้ที่มีคุณภาพ และได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลได้ ส่งผลให้ต้องนำเข้าตู้เปล่าปีละ 1.5 ล้าน TEUs ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2563 ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จึงส่งผลให้ต้นทุนขนส่งทางเรือของไทยปรับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยเฉพาะในเส้นทางหลักจากไทยไปยุโรปและสหรัฐอเมริกา และส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อศักยภาพการส่งออกของไทย โดยสาเหตุหลักเกิดการจากแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ทำให้แรงงานในสหรัฐฯ และยุโรปหยุดงานจนทำให้ตู้บรรทุกสินค้านำเข้าตกค้างยังท่าเรือในประเทศดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดการณ์ว่าสถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จะเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2564 อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นหรือไม่ ยังคงต้องจับตาสถานการณ์ของโควิด 19 ระลอกใหม่ต่อไป

ผลการดำเนินงาน

ในปี 2563 กลุ่มบริษัทมีผลขาดทุน 26.07 ล้านบาท โดยงบการเงินเฉพาะบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 8.38 ล้านบาท แม้ว่าในปีนี้มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีผลกระทบต่อทุกภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศและทั่วโลก บริษัทฯ ได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังเห็นได้จากรายได้ของลูกค้าทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวเช่นกัน โดยมีการใช้บริการการขนส่งลดลง ส่งผลให้กำไรขั้นต้นของบริษัทลดลง แต่งบการเงินเฉพาะบริษัทฯ มีผลกำไรสุทธิ เกิดจากการพยายามหาแหล่งรายได้ทางอื่นเพื่อชดเชยรายได้และกำไรขั้นต้นที่ลดลง ดังจะเห็นได้จากรายได้อื่นที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีรายได้จากโครงการพิเศษในการให้บริการเปลี่ยนเครื่องเอกซเรย์ในสนามบิน จำนวน 11.07 ล้านบาท มีรายได้ทางการเงินเพิ่มขึ้นจากการรับรู้ดอกเบี้ยจากการขายเงินลงทุนใน SSK 6.44 ล้านบาท มีรายได้ค่าเช่ารถ และมีรายได้การให้เช่าตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ประกอบกับการลดค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารงานที่ลดลงด้วยการควบคุมรายจ่ายความรอบคอบและระมัดระวังยิ่งขึ้น และจากมาตรการช่วยเหลือของหน่วยงานต่าง ๆ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ในส่วนของงบการเงินรวมที่มีผลขาดทุนจำนวน 26.07 ล้านบาท เนื่องจากกำไรขั้นต้นของการให้บริการขนส่งของกลุ่มบริษัทลดลงตามสาเหตุข้างต้น ประกอบกับในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 คณะกรรมการบริษัทได้ซื้อหน่วยงานธุรกิจใหม่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทย่อยในสิงค์โปร์ (LG Container Line PTE LTD.) ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการปรับโครงสร้างธุรกิจและการดำเนินงานของบริษัทย่อยดังกล่าว ขาดทุนจำนวน 39.23 ล้านบาท โดยต้นทุนจากการปรับโครงสร้างนี้แล้วเสร็จในปีปัจจุบัน โดยจะก่อให้เกิดผลกำไรของบริษัทย่อยดังกล่าวในปี ต่อ ๆ ไป ซึ่งหากไม่รวมผลขาดทุนจากการปรับโครงสร้างจะเห็นได้ว่ากลุ่มบริษัทฯ มีผลกำไรสุทธิ สำหรับสำหรับปี 2563 เท่ากับ 6.58 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.74 ของรายได้จากการให้บริการและรายได้จากการขาย

โดยในปีนี้คณะกรรมการบริษัทมีความเห็นปิดบริษัทย่อยในประเทศเวียดนาม หยุดการดำเนินกิจการของบริษัทย่อยในประเทศจีน และขายเงินลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อระงับผลขาดทุนในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและบริษัทในอนาคต ทั้งนี้บริษัทฯ ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับกลยุทธ์การบริหารและฝ่าวิกฤตให้ทันต่อสถานการณ์ในยุค New Normal

การจัดการเพื่อความยั่งยืน

บริษัทฯ มุ่งเน้นและมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนให้เป็นองค์กรที่ดีของสังคม ยึดถือและดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงการเติบโตของผลกำไร และพัฒนาในมิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่ครอบคลุมตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทั้งสิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส การต่อต้านธุรกิจคอร์รัปชัน ตลอดจนความรับผิดชอบของคณะกรรมการได้อย่างถูกต้องและสม่ำเสมอมาโดยตลอด ทั้งนี้บริษัทฯ ได้รับการประเมินจากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai IOD) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีในระดับดีเลิศ (Excellent CG Scoring) หรือ 5 ตราสัญลักษณ์ ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 (ปี 2561 – 2563) และยังได้รับการประเมินระดับ ร้อยละ 100 จากโครงการประเมินคุณภาพการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563  (AGM) ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 จัดโดยสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย

ทั้งนี้ในนามของคณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร พนักงาน และบริษัทในเครือ ขอขอบคุณในความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ และให้การสนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจอย่างดีเสมอมาจากผู้ถือหุ้น นักลงทุน สถาบันทางการเงิน พันธมิตรทางธุรกิจ ลูกค้า หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ที่เป็นกำลังสำคัญในการร่วมสร้างและเพิ่มคุณค่าความสำเร็จในการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยดีมาโดยตลอด

บริษัทฯ ขอให้ความมั่นใจและยืนยันเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และธรรมาภิบาลภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม โดยการพัฒนาและการเพิ่มศักยภาพในการให้บริการลูกค้าที่ดีที่สุด ด้วยบุคลากรที่มีประสิทธิภาพด้านทักษะ ความชำนาญในการทำงาน รวมทั้งร่วมผลักดันให้ทุกภาคส่วนเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการวางแผนการบริหารจัดการทางธุรกิจ ให้สามารถขับเคลื่อนไปด้วยความมั่นคงและความยั่งยืน พร้อมทั้งรองรับกับการขยายและการเติบโตของบริษัทฯ ในทุกสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต สู่ความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

 

บริษัท เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน)

56/9-10 ซอยตากสิน 12/1 ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600 Phone : 02-473-7300 FAX : 02-473-7374
ติดต่อนักลงทุนสัมพันธ์/เลขานุการบริษัท 02-473-7300 ต่อ 300