
การจัดการด้านความยั่งยืนในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อม
บริษัท เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการจัดการด้วยความยั่งยืนด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักการ 8 ข้อดังนี้
- การกำกับดูแลกิจการที่ดี : บริษัทฯจะดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง มีความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและตรวจสอบได้ โดยบริษัทจะปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
- การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม : บริษัทฯจะส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรี หลีกเลี่ยงการดำเนินการที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมในห่วงโซ่ธุรกิจทุกขั้นตอน (Business Chain)
- การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน : บริษัทฯต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทั้งภายในและภายนอกองค์กรเพื่อความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งให้ความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ และส่งเสริมให้พนักงานตระหนักในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
- สิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อพนักงาน : บริษัทฯสนับสนุนและเคารพในการปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยจะปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมด้วยการจัดให้มีสวัสดิการ ความปลอดภัยและสุขอนามัยในสถานที่ทำงาน รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาบุคลากรเพื่อยกระดับการทำงานของพนักงานอย่างมืออาชีพ บริษัทฯจะสนับสนุนการพัฒนาระบบการทำงานและส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการทำประโยชน์กับสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม
- ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค : บริษัทฯจะพัฒนาการให้บริการที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยรักษาคุณภาพให้ตรงตามหรือสูงกว่าความคาดหมายของผู้บริโภคภายใต้เงื่อนไขที่เป็นธรรม และจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการที่ถูกต้อง เพียงพอ ไม่เกินความเป็นจริง พร้อมทั้งรักษาความลับของลูกค้าไม่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้ที่เกี่ยวข้องโดยมิชอบ
- สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย : บริษัทฯจะดำเนินการให้มีกระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในทุกกระบวนการทางธุรกิจ รวมถึงใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงานตามหลักการสากล
- การมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม : บริษัทฯส่งเสริมการใช้กระบวนการทางธุรกิจเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ช่วยสร้างเศรษฐกิจและความเข้มแข็งให้กับชุมชนเพื่อนบ้าน และสังคมไทย
- การพัฒนาและเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม : บริษัทฯจะสนับสนุนการสร้างสรรค์และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย (Co-Creation) ในการพัฒนานวัตกรรมที่สร้างความสมดุลระหว่างมูลค่าและคุณค่าต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับความเจริญเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน
การจัดการผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย
1.ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ (Value Chain)
บริษัท เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบตามหลักธรรมาภิบาล โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและได้มีการยกระดับการดำเนินการนี้ไปยังผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ โดยมีวัตถุประสงค์ผลักดันและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน บริษัทฯคำนึงถึงความสัมพันธ์ของผู้มีส่วนได้เสียหลักในกิจกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทฯมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างคุณค่าให้แก่สินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียหลักทุกภาคส่วน
ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจในกิจกรรมหลักของบริษัทฯแสดงได้ ดังนี้
การบริหารปัจจัยการผลิต
- การหาพันธมิตรหรือคู่ค้าทางการค้าเพื่อเพิ่มการทำงานที่มีประสิทธิภาพในต่างประเทศ เพื่อให้สามารถเพิ่มศักยภาพการทำงานในจุดหมายปลายทางในประเทศต่าง ๆ ได้ทั่วโลก
- การได้มาของพันธมิตรหรือคู่ค้าที่จะส่งผลต่อจุดแข็งและโอกาสของบริษัทฯในการเป็นผู้นำทางด้านขนส่งในเส้นทางการค้าหลักของโลก
- การหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการลูกค้าเช่น หน่วยงานภาครัฐ (ศุลกากร)
ทั้งในและต่างประเทศ - การขยายรายได้ของบริษัทฯจากการเป็นผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ให้ครบวงจรมากขึ้นโดยการขยายธุรกิจคลังจัดเก็บสินค้าและบริการขนส่งสินค้าภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน
การปฏิบัติการ
- อำนวยความสะดวกในการขนส่งและเปรียบเทียบราคาตลาดรวมถึงประสานงานกับสายเรือเพื่อให้ลูกค้าได้รับต้นทุนในการขนส่งที่ต่ำที่สุด
- พนักงานได้รับการอบรมเพื่อให้มีความรู้และศักยภาพในการทำงานแต่ละภาคส่วนเพื่อให้การบริการลูกค้าเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- บริษัทฯมีการปรับปรุง พัฒนาระบบปฏิบัติงานของพนักงานให้ตอบสนองต่อเทคโนโลยีใหม่อยู่เสมอ
การกระจายสินค้าและบริการ
- บริษัทฯมีอาคารสำนักงานเพื่อให้ลูกค้าติดต่อและเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในการรับและให้บริการ
- บริษัทฯมีช่องทางการติดต่อที่หลากหลายสำหรับลูกค้าเพื่ออำนวยความสะดวกและรวดเร็วต่อการติดต่อหรือเข้าถึงข้อมูลการดำเนินงาน
การตลาดและการขาย
- พนักงานมีการสำรวจราคาตลาดในธุรกิจอุตสาหกรรมเดียวกันเพื่อเสนอราคาแก่ลูกค้าในราคาที่ต่ำที่สุดหรือตามความพึงพอใจของลูกค้า
- บริษัทฯมีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลช่องทางการติดต่อลูกค้าให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอเพื่อใช้ในการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้ครอบคลุมมากที่สุด
การบริการหลังการขาย
- บริษัทฯมีหน่วยงานที่รับฟังความคิดเห็นของลูกค้าเพื่อนำไปแก้ไข ปรับปรุงการปฏิบัติงานและบุคลากรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- บริษัทฯมีการสำรวจความต้องการของลูกค้าเพื่อนำไปพัฒนาระบบการดำเนินงานต่อไป
- บริษัทฯมีหน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียนของลูกค้าเพื่อนำไปพิจารณาดำเนินการแก้ไขในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง
2. วิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ
การวิเคราะห์ความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ ช่วยให้บริษัทเข้าใจความต้องการและ ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียได้เป็นอย่างดี และทำให้บริษัทฯ สามารถพัฒนาการให้บริการรวมถึงกำหนดกิจกรรมที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มได้อย่างใกล้เคียงมากที่สุด
บริษัทฯตระหนักถึงความสำคัญของผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกบริษัท กล่าวคือ ผู้ถือหุ้น พนักงาน ผู้บริหารของบริษัทฯ และบริษัทย่อย เจ้าหนี้ คู่ค้า ลูกค้า ผู้ลงทุน ชุมชน หน่วยงานราชการและองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯและมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ บริษัทฯ จึงได้กำหนดหลักปฏิบัติและการมีส่วนร่วมต่อผู้มีส่วนได้เสียเพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างคุณค่าให้แก่การบริการเพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน
ตารางการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ